พิธีกรรมป้องกันโรคระบาดด้วย
“ขึงหนังสุนัข” Keeq khov taw
ชนเผ่าอ่าข่า ผู้มีความเชื่อการดำเนินชีวิต ที่ถือเอาจาก กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ประสบการณ์ อาเพศ และการบัญญัติขึ้นด้วยอำนาจของผู้นำในยุคสมัยอดีต
มาบูรณาการใช้เป็นเครื่องมือพิธีกรรม หรือการควบคุม
ออกเป็นข้อบัญญัติ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติยึดถือดำเนินชีวิตในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน และสาธารณะ ถึงในปัจจุบัน ดังตัวอย่าง
พิธีกรรมรักษาและป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง โดยใช้สัตว์เลี้ยงตั้งแต่ ไข่ / ไก่ / แมว / หมู / แพะ / ควาย / เป็ด และ สุนัข ซึ่งพบว่าเผ่าพันธุ์อ่าข่า ได้มีระบบการแพทย์
เพื่อรักษา ป้องกันของชนเผ่าใช้ ตั้งแต่ยุคที่ 3 ระหว่าง “คนกับผีแยกทางกัน” ที่เรียกว่า
“แหนะ ฉ้อ ก่ออี้เอ่อ” (Naevq Tsawr Ghawq ir e)
หรือตามลำดับการนับชื่อบรรพบุรุษของคนที่ต่อจาก “ถ่องผ่อง”(Tanq panq) ที่ชื่อว่า “เจ่วถ่องถ่อง”
(Dzoeq Tanq Panq) ตั้งแต่ยุคนี้ชนเผ่าอ่าข่าก็มีพิธีกรรมต่างๆ
เพื่อรักษาป้องกันโรคระบาดในมนุษย์โดยการใช้สัตว์ประเภทต่างๆ
เพื่อรักษาทั้งทางกาย ทางใจ กันแล้ว
ซึ่งหากนับย้อนหลัง กลับไป ก็เป็นเวลาประมาณ 1,845 ปี (คำนวณจากตัวเลขชื่อบรรพบุรุษ
“จึ” Tseevq ) หรือ พุทธศักราช พ.ศ. 718 / คริสต์ศักราช ค.ศ.
176 ราวศตวรรษที่ 2
การป้องกันโรคระบาดด้วยพิธีกรรม “ขึงหนังสุนัข” Keeq khov taw
พิธีกรรมป้องกันโรคโดยการใช้หนังสุนัข
อ่าข่าเรียกว่า “ขื่อโคะทอ” Keeq Khov Taw เป็นคำพูดของการประกอบพิธีกรรม หากจะเรียกให้เต็มก็สามารถเรียกได้ว่า
“อ่าขื่อบาโคะทอ”Aqkeeq Bakhov Taw หรือ ขึงหนังสุนัข ซึ่งก็เป็นพิธีเดียวกัน
พิธีกรรมนี้สามารถประกอบได้เมื่อมีเหตุโรคระบาดที่เกิดกับ มนุษย์
หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง อ่าข่าเชื่อว่าสรรพสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ
“ยอซ๊อง” Yaw sanr แม้แต่โรคก็มีเจ้าของเช่นกัน
ดังนั้นการป้องกัน คุ้มครอง
ไม่ให้เจ้าของโรคระบาดเข้ามาในชุมชนต้องใช้สัตว์เลี้ยงที่เป็นสุนัขตัวผู้จะเป็นสีอะไรก็ได้มาทำพิธี
ขึงไว้ใกล้กับประตูหมู่บ้าน ที่เป็นทางเข้าหลักในชุมชน โดยผู้อาวุโส และสมาชิกชุมชนที่มีอายุแล้ว
จะเป็นผู้แทนการประกอบพิธีกรรม โดยใช้เวลา 1 วัน และสมาชิกทุกๆ คนในหมู่บ้าน
ห้ามออกนอกหรือบุคคลคนอื่นเข้ามาชุมชนเด็ดขาด เพราะถือว่า ปิดหมู่บ้าน ปกป้องสมาชิกทุกคนให้ปลอดภัยจากโรคระบาดซึ่งก็แล้วแต่จะทำพิธีนี้เพื่อป้องกันต่อมนุษย์
หรือ สัตว์เลี้ยง การปิดตนเองและชุมชนแบบนี้เรียกว่า “นือลอง ลองเก่วๆ เออ”Neelan
lan ghoeq ghoeq e โดยมีเครื่องเซ่นประกอบพิธีที่ต้องทำไว้คือ
หนังสุนัขที่มีส่วนประกอบครบส่วนอวัยวะ เขียงสับ
ค้อนทุบ ตาแหลวใหญ่ 7 ตา ไว้แขวน ตาแหลว 5 ตา ไว้ปักทางเข้าทุกเส้นทาง
โดยมีขั้นตอนพิธีกรรมเซ่นไหว้ 2 ระดับคือ ตอนแรกหลังการทำพิธีฆ่าสุนัขต้องใช้ เลือด
/ขนสุนัข เซ่นไหว้ ขั้นที่สอง หลังจากปรุงเนื้อสุนัขเสร็จแล้ว
เซ่นไหว้ (เนื้อสุนัขปรุงสุก/เหล้า/ข้าว)
ทำไมต้องเป็นสัตว์สุนัข
เพราะในบรรดาสัตว์เลี้ยงที่ชนเผ่าอ่าข่าเลี้ยงไว้ ประกอบด้วย ไก่ แมว
หมู แพะ ควาย เป็ด และ สุนัข(ไม่รวมวัว
เพราะวัวเป็นสัตว์นอกระบบในวัฒนธรรมอ่าข่าซึ่งไม่ถือเป็นสัตว์มงคล) สุนัข ถือว่าเป็นเพื่อนกับมนุษย์ มีศักดิ์ศรี
ของชีวิตสุนัขเท่ามนุษย์
ชนเผ่าอ่าข่าจึงไม่นิยมฆ่าสุนัขบริโภคหากไม่มีพิธีกรรมที่จำเป็น และกรณีที่มีการล่าสัตว์ป่า
หากมีการยิงสุนัขตายในขณะที่ออกไปล่าสัตว์ป่า
ทุกคนต้องหยุดและกลับบ้านโดยไม่มีการล่าสัตว์ต่อ พร้อมทั้งอยู่กรรมให้เป็นเวลา 1
วัน เช่นกัน และด้วยเหตุผลที่สุนัขเป็นสัตว์สำคัญกับชนเผ่าอ่าข่าก็เพราะ
สุนัขได้ช่วยชีวิตมนุษย์ในตอนหนึ่งของนิทาน “ม้อฮื่อ ม้อยี้” Mawrheeq Mawrnyir ตอนที่เขาทั้งสองได้ตกลงไปในหลุมใต้พิภพและไปอยู่กับพี่เขยพญานาคสุนัขได้ใช้หางดึงคนออกมาช่วยมนุษย์ สุนัขเป็นสัตว์คุ้มครองมนุษย์โดยสามารถอยู่ในบนบ้านกับคนได้ในขณะที่สัตว์อื่นๆ
ต้องอยู่ใต้ถุนบ้านหรือนอกบ้าน สุนัขสามารถไล่สัตว์ หรือช่วยต้อนสัตว์กลับบ้าน หรอไล่สิ่งชั่วร้าย(ผีร้าย)ไม่ให้มาทำร้ายมนุษย์
อ่าข่าจึงใช้สุนัขประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ดังนี้ การเซ่นไหว้สุนัขตอนเริ่มสร้างบ้านเพื่อคุมสถานที่สร้างบ้านไม่ให้เกิดสิ่งอัปมงคลที่เรียกว่า
“จ๊อขื่อดี่” Jawr keeq diq พิธีกรรมเรียกขวัญผู้มีอาการป่วยหนักที่เรียกว่า
“ล้าดูเบ่อ” Larduq beq และ พิธี “หม่อแจยะ แจยะ” Mawq nyaev
nyaev
ผู้ที่ป่วยเพราะถูกผีร้ายสิงตัว
พิธีสะกดวิญญาณเมื่อคนตายผิดจากธรรมชาติ
เช่น ไฟไม้ คนถูกยิงตาย พิธีใช้สุนัขคนที่ตายแต่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณีเต็ม
ซึ่งพิธีนี้จะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ต้องอพยพหนีหรือมีเหตุที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้
เพราะการสู้รบหรือถูกรุกราน หรือเกิดโรคระบาด
สุดท้ายคือ พิธี “ขื่อโคะทอ” Keeq
khov taw ขึงหนังสุนัข ทั้งหมดนี้คือพิธีกรรมที่ชนเผ่าอ่าข่าได้ใช้สุนัข
เป็นสัตว์ประกอบพิธีกรรมเพื่อการรักษา ป้องกัน คุ้มครอง
ทั้งทางกายและทางใจซึ่งได้สืบสานมาแต่อดีตกาลมาเป็นเวลานานของเผ่าพันธุ์
อนึ่งในทางความเชื่อ ที่สุนัขมีคุณค่าชีวิต และศักดิ์ศรีเท่ากับมนุษย์
ก็เพราะการตายของสุนัขนั้น ถือว่าเป็นการตายแทนด้วยชีวิตมนุษย์ ให้กับโรคระบาดที่เกิดขึ้นนั้นเอง..
เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น